Skip to main content

คณะกรรมการบริษัท

อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ

เพื่อให้อำนาจหน้าที่ในเรื่องการกำหนดนโยบายและการบริหารงานของบริษัทฯ สามารถแบ่งแยกจากกันได้อย่างชัดเจน รวมถึงเพื่อให้บทบาทในฐานะผู้นำคณะกรรมการบริษัทฯ และการกำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้ประธานกรรมการบริษัทฯ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นคนละบุคคลกัน โดยประธานกรรมการบริษัทฯ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และการประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนกำหนดระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

2. อนุมัติเรื่องที่จะบรรจุเป็นวาระการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

3. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ และประชุมผู้ถือหุ้น และควบคุมการประชุมให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับบริษัทฯ ส่งเสริม สนับสนุน และเปิดโอกาสให้กรรมการและผู้ถือหุ้นได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเป็นอิสระ

4. ส่งเสริม สนับสนุนให้กรรมการและผู้ถือหุ้นได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอ และสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเป็นอิสระ

5. ส่งเสริมการใช้สิทธิและรักษาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

6. สนับสนุนและส่งเสริมให้คณะกรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และสนับสนุนการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

7. ดูแล ติดตามการบริหารงานของคณะกรรมการบริษัทฯ และคณะกรรมการชุดย่อยอื่นๆ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

8. ลงคะแนนเสียงชี้ขาดในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในกรณีที่คะแนนเสียงทั้ง 2 ฝ่ายเท่ากัน

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทฯ

คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่จัดการกิจการของบริษัทฯ ทั้งปวง ด้วยความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Care and Duty of Loyalty) มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และกำกับดูแลให้การบริหารจัดการเป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติที่ประชุม ผู้ถือหุ้น ตลอดจนนโยบาย แนวทางและเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น อยู่ในกรอบของการมีจริยธรรมที่ดี และคำนึงถึงผลประโยชน์ของ ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนี้

1. กำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ให้ความสำคัญในการแสวงหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางดังกล่าว รวมถึงพิจารณาประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งด้านการเงิน และที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ฝ่ายจัดการจะสามารถนำวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นไปปฏิบัติให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย

2. ทบทวนและให้ความเห็นชอบกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ รวมถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมายทางการเงิน และแผนงานต่าง ๆ ของบริษัทฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งติดตามให้มีกระบวนการรายงาน และการกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด ตามทิศทางและกลยุทธ์ของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ

3. จัดให้มีระบบบัญชี การรายงานทางการเงิน และการสอบบัญชีที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งดูแลให้มีกระบวนการประเมินความเหมาะสมของการควบคุมภายใน และการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพเเละประสิทธิผล

4. จัดให้มีการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้น และกำหนดแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวอย่างครอบคลุม ดูแลให้มีระบบหรือกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงดังกล่าว

5. จัดให้มีการควบคุมภายในที่เพียงพอและมีประสิทธิผล รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการประเมินความเหมาะสมของระบบการควบคุมภายในของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ

6. สอดส่อง ดูแล และจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงรายการที่เกี่ยวโยงกัน ให้ความสำคัญในการพิจารณาธุรกรรมหลักที่มีความสำคัญ โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียโดยรวม

7. จัดให้มีระบบการคัดสรรบุคลากร ที่จะเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งบริหารที่สำคัญ อย่างเหมาะสม มีกระบวนการสรรหาที่โปร่งใส เป็นธรรม

8. จัดให้มีระบบ หรือกลไกการจ่ายค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ที่มีความเหมาะสม สอดคล้องกับผลประกอบการและแผนธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อก่อให้เกิดแรงจูงใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

9. กำหนดการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทอื่นของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯ ส่วนผู้บริหารระดับสูงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งนี้ การแต่งตั้งกรรมการของบริษัทในเครือ หรือบริษัทร่วมทุนตามจำนวนสัดส่วนการถือหุ้น หรือข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริษัทฯ

10. กำหนดองค์ประกอบและเป้าหมายในการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยเชื่อมโยงกับแผนธุรกิจและแนวทางการบริหารแบบ Balanced Scorecard รวมถึงจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างสม่ำเสมอ และกำหนดค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดแรงจูงใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

11. จัดให้มีช่องทางการสื่อสารกับผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และมีการประเมินผลในด้านการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่า มีความถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส น่าเชื่อถือ และมีมาตรฐาน

12. เป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานที่ดี สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

13. สนับสนุนให้บริษัทฯ มีการดำเนินงานเพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล

14. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณของบริษัทฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง

15. แต่งตั้งเลขานุการบริษัทฯ โดยบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อรับผิดชอบหน้าที่เลขานุการบริษัทตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทดาวน์โหลด
Skills Matrix of the IRPC Board of Directorsดาวน์โหลด
คุณสมบัติกรรมการอิสระดาวน์โหลด
การประเมินกรรมการบริษัทดาวน์โหลด