Skip to main content

ประสิทธิภาพเชิงนิเวศ

แนวทางการบริหารจัดการ

นโยบาย

ไออาร์พีซีกำหนด แผนแม่บทระบบบริหารจัดการด้านประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Operational Efficiency & Management System Roadmap) ระหว่างปี 2561 – 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลการดำเนินงาน มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการ โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมคุณภาพอากาศและกลิ่น และการจัดการน้ำเสียและของเสีย รวมถึงการได้รับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กระบวนการและระบบบริหารจัดการ

ไออาร์พีซี นำระบบการดำเนินการบริหารจัดการตามระบบปฏิบัติการที่เป็นเลิศ ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group’s Operational Excellence Management System: OEMS) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กรด้านการใช้พลังงาน การควบคุมคุณภาพอากาศและกลิ่น และการจัดการน้ำเสียและของเสีย ทั้งนี้ ไออาร์พีซี วางแผนระยะยาวเพื่อจัดการด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทั้งหมดขององค์กรในปี 2564 ไม่เกิน 76.2 ล้านกิกะจูล และในปี 2568 ไม่เกิน 72.2 ล้านกิกะจูล และกำหนดเป้าหมายดัชนีการใช้พลังงาน (Energy Intensity Index: EII) ในปี 2564 ที่ร้อยละ 89 รวมถึงเป้าหมายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2568 ที่ร้อยละ 83 เพื่ออยู่ในเกณฑ์ Top Quartile ของอุตสาหกรรม

ไออาร์พีซี ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพอากาศและกลิ่นเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนรอบเขตประกอบการฯ และตรวจติดตามการดำเนินงานด้านการควบคุมคุณภาพอากาศและกลิ่น ผ่านการได้รับข้อร้องเรียนที่ได้รับตลอดทั้งปี จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ไออาร์พีซี กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมอัตราการระบายมลสารทางอากาศ ประกอบด้วย ออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOx) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และฝุ่นละออง (TSP) รวมถึงปรับปรุงถังเก็บสารเคมีขนาดใหญ่และจัดทำบัญชีการปลดปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs Inventory) เพื่อบริหารจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย นอกจากนี้ ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงหอเผาทิ้งระดับเหนือพื้นดินและโครงการติดตั้งหอเผาทิ้งระดับพื้นดินแบบระบบปิด (Enclosed Ground Flare EGF) เพื่อลดระดับกลิ่นและลดผลกระทบด้านเสียงและแสงสว่างต่อชุมชนรอบเขตประกอบการฯ

ไออาร์พีซี ตระหนักว่าการเกิดของเสียต้องมีการจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดการบริหารจัดการของเสียอันตรายที่เกิดจากกระบวนการผลิตของไออาร์พีซี เช่น Spent Caustic ที่เกิดจากโรงงาน UHV และของเสียไม่อันตราย เช่น ขี้เถ้าเบาจากการเผาไหม้ถ่านหินของโรงไฟฟ้า ตามข้อกำหนดทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไออาร์พีซี ได้นำหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการบริหารจัดการของเสียแบบบููรณาการทั่วทั้งองค์กร รวมถึงปฏิบัติตามนโยบายของกลุ่ม ปตท.ในการกำหนดให้ปริมาณของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ เพื่อหาแนวทางในการนำของเสียที่ยังสามารถนำกลับมาใช้เป็นประโยชน์ได้กลับมาใช้ใหม่

ไออาร์พีซี ติดตามและตรวจสอบปริมาณของเสียจากการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ โดยข้อมูลของเสียขององค์กรจะถูกเก็บในระบบฐานข้อมูล นอกจากนี้ ไออาร์พีซี ยังจัดตั้งแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลขยะพลาสติกในตลาดเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต เพื่อลดการทิ้งและกำจัดขยะพลาสติก ทั้งนี้ ไออาร์พีซีมีการควบคุมให้มีการจัดการของเสียที่ดำเนินการโดยบุคคลที่สาม (Third-party) เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ไออาร์พีซี บริหารจัดการน้ำเสียจากโรงบำบัดน้ำเสียตามกฎหมายท้องถิ่นและเกณฑ์กำหนดที่เกี่ยวข้อง และนำหลักการ 3Rs มาใช้ในการบริหารการใช้ทรัพยากรน้ำยังคุ้มค่า อาทิ การใช้น้ำเสียบำบัดแล้วมารดน้ำต้นไม้และสวนส่วนกลาง

ผลการดำเนินงาน

สรุปผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม Download